ท้องผูกเรื้อรัง
ท้องผูกเรื้อรัง
ท้องผูกเรื้อรัง คือ อาการถ่ายลำบาก ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็ง ถ่ายลำบาก ต้องเบ่งถ่าย อุจจาระมีก้อนเล็ก ถ่ายไม่สุด ถ่ายแล้วรู้สึกไม่สบายท้อง อาการเหล่านี้เกิดขึ้นนานกว่า 4 สัปดาห์ หรือมีอาการเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ออกกำลังกายน้อย ทำงานนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน
สาเหตุจากโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ต่ำ โรคกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติ โรคทางระบบประสาท
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง
การรักษาท้องผูกเรื้อรังขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อน เช่น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง ออกกำลังกายเป็นประจำ เข้าห้องน้ำเป็นประจำในเวลาเดียวกันทุกวัน
หากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระบายช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เช่น ยาระบายกลุ่มออสโมติก ยาระบายกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หรือยาระบายกลุ่มเพิ่มกากใยในลำไส้
หากมีอาการท้องผูกเรื้อรังร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งลำไส้ เช่น อุจจาระมีเลือดปน, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ, เบื่ออาหาร, ปวดท้องเรื้อรัง, คลื่นไส้ อาเจียน, อ่อนเพลีย หรือ มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งรำไส้ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งลำไส้
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคนี้ การตรวจคัดกรองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Faecal occult blood test: FOBT)
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง และดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้อาการดีขึ้นและหายขาด หากจำเป็นแพทย์อาจแนะนำให้ส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อหาสาเหตุต่อไป
บทความโดย: นพ.เมธัส อรัญนารถ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป