ไส้เลื่อน
ไส้เลื่อน
ติดต่อสอบถาม: โทร 082-656-3726 facebook : คลินิกหมอเมธัส สงขลา
ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ผนังหน้าท้องบางจุดอ่อนแอ อวัยวะภายในช่องท้องบางส่วน เช่น ลำไส้ จึงไหลออกมาจากจุดนั้น ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการคลำพบก้อน มักจะโตขึ้นเวลา ยกของหนัก หรือ เบ่ง ไอ จามแรงๆ เวลานอน ก้อนก็จะยุบลง ซึ่งในบทความนี้ขอเน้นไปที่ ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ซึ่งเป็นในภาวะที่พบได้บ่อยมาก
ไส้เลื่อน อาจเกิดจากการผสานของปัจจัยหลายประการ เช่น
ความอ่อนแอในกล้ามเนื้อชั้นท้อง: กล้ามเนื้อชั้นท้องอ่อนแออาจเกิดขึ้นเอง หรือ อาจมีมาตั้งแต่กำเนิด ความอ่อนแอนี้ทำให้อวัยวะภายในช่องท้องสามารถไหลลงมา ทำให้เกิดเป็นไส้เลื่อนได้
ความดันเพิ่มขึ้นในช่องท้อง: กิจกรรมบางอย่าง ทำให้เกิดความดันเพิ่มขึ้นในช่องท้อง เช่น ยกของหนัก เจ็บคอ ไอเรื้อรัง เบ่งถ่ายปัสสาวะ/อุจจาระ เป็นต้น อาจมีส่วนในการเพิ่มโอกาสในการเกิดไส้เลื่อน ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมาก มีอาการปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งตลอด เมื่อเวลาผ่านไป แรงดันในช่องท้องที่เกิดขึ้นขณะเบ่งปัสสาวะ ก็ทำให้ผนังหน้าท้องอ่อนแอลง เกิดเป็นไส้เลื่อนขึ้น ทั้งนี้ นอกจากจะรักษาไส้เลื่อนแล้วยังต้องรักษาภาวะต่อมลูกหมากโตที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นด้วย
เพศและอายุ: ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อน เนื่องจากกล้ามเนื้อจะอ่อนแอขึ้นตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้น
ก้อนบริเวณขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ: ก้อนจะโตขึ้นเวลายกของหนัก หรือเบ่ง ไอ จามแรงๆ และ มักจะยุบลงได้เวลานอนยกขาสูง หรือดันก้อนกลับเข้าช่องท้อง
อาการปวด: ในบางกรณไส้เลื่อน อาจทำให้เกิดอาการปวดหน่วงๆ โดยเฉพาะเมื่อยกของหนักแล้วมีอวัยวะภายในช่องท้องเข้ามาติดในบริเวณที่มีไส้เลื่อน แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการขาดเลือดของลำไส้ส่วนที่ลงมาติดในไส้เลื่อน จะมีอาการปวดบริเวณก้อนอย่างมาก ก้อนไม่สามารถดันกลับได้ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบมารับการรักษาที่โรงพยาบาล
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องบางจุด เมื่อเวลาผ่านไปขนาดของไส้เลื่อนก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ ปล่อยไว้นานๆ ก็มีอากาสที่ไส้ออกมาติด ดันกลับไม่ได้ เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด ดังนั้นเราควรจะทำการผ่าตัดแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกได้ว่าจะขอสังเกตอาการไปก่อน แต่สิ่งที่ท่านควรทราบ คือ ไส้เลื่อนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ประมาณ 0.5% ต่อปี ท่านสามารถสังเกตอาการดูก่อนก็ย่อมได้ แต่โอกาสที่จะไปเกิดภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อนตอนที่เราอายุมาก เช่น อีก10ปีข้างหน้า จะดีกว่าไหมถ้าเราผ่าตัดเสียตั้งแต่ตอนที่เรายังอายุน้อยและสุขภาพแข็งแรงดี หากรอไปผ่าตอนที่มีอาการมากๆ เช่น อายุ 80 - 90 ปี ภาวะแทรกซ้อนก็จะสูงขึ้นครับ
แน่นอนว่าการตัดสินใจรักษาโดยการผ่าตัดนั้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อช่างน้ำหนัก ข้อดี-ข้อเสีย ของการผ่าตัดด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดสูง
ก่อนผ่าตัด จะต้องมีการประเมินความพร้อมในการผ่าตัด ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงมาก อาจพิจารณาทำการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบฉีดยาชา แทนการดมยาสลบ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก หลังผ่าตัดหากไม่มีอาการผิดปกติ สามารถพักฟื้นต่อที่บ้าน ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าหมอผ่าตัดทุกคนจะทำการผ่าตัดลักษณะนี้ ควรสอบถามแพทย์ก่อนทำการผ่าตัด
ปัจจุบันด้วยเทคนิกการรักษาที่สูงขึ้น เราสามารถผ่าตัดไส้เลื่อนแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยหลังผ่าตัดจะทำการสังเกตอาการประมาณ4ชั่วโมง หากไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถพักฟื้นต่อที่บ้านได้ครับ ที่รพ.สงขลามีการผ่าตัดไส้เลือนแบบวันเดียวกลับมากกว่า 100 ราย พบว่าภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก ไม่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบนอนรพ. หากท่านสนใจเกี่ยวกับการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบวันเดียวกลับสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัยขอผมได้ครับ
Early Results of Inguinal Hernia Repair under General Anesthesia and a One-Day Surgery Protocol
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJSurg/article/view/257624
Cost-Analysis of Inguinal Herniorrhaphy under General Anesthesia in Same-Day Surgery
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJSurg/article/view/258535