นิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดี
ติดต่อสอบถาม: โทร 082-656-3726 facebook : คลินิกหมอเมธัส สงขลา
นิ่วในถุงน้ำดีเป็นภาวะที่ได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคกระเพาะ-กรดไหลย้อนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้นิ่วในถุงนำดีจะมีลักษณะอาการเฉพาะตัว คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดใต้ชายโครงขวา ปวดบีบๆแน่นๆ ปวดร้าวไปสะบักขวา มักมีอาการปวดยาวนานเป็นชั่วโมง จากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้น จุดสำคัญ คืออาการมักจะสัมพันธ์กับการกินของมัน หรือ อาหารมื้อใหญ่ๆ ในบางกรณีที่ประวัติไม่ชัดเจนอาจต้องตรวจเพิ่มเติมโดยการทำอัลตราซาวด์
โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น เราก็มีโอกาสพบนิ่วในถุงน้ำดีได้อยู่แล้วครับ ดังนั้นหากตัวนิ่วเองไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องผ่าครับ สังเกตอาการไปก่อนได้ เฉกเช่นเดียงกับการที่ท่านมีไฝที่แขน เราก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องไปไล่ตัดเสมอไป เราจะผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น
1. ปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดี (symptomatic gallstone) หากไม่ผ่าก็จะปวดท้องเรื้อรังไม่หาย ซึ่งตรงนี้ต้องแยกกับอาการปวดจากโรคกระเพาะให้ดี
2. มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ และ นิ่วในท่อน้ำดี
หาไม่ผ่า มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนซ้ำสูง
3. ไม่มีอาการ แต่ผ่าเพื่อกันไว้ก่อน (prophylactic cholecystectomy) โดยทั่วไปจะทำเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งถุงน้ำดี เช่น
- นิ่วในถุงน้ำดีขนาด >2 ซม.
- พบติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ขนาด >1ซม.
- มีแคลเซียมเกาะรอบผนังของถุงน้ำดี(porcelain gallbladder)
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือก็อาจกล่าวถึง เหตุผลอื่นๆที่จำเป็นต้องผ่าตัดถุงน้ำดี เช่น อายุน้อย. ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน หรือ ต้องไปในที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ฯลฯ ตรงนี้แพทย์ที่ให้การรักษาอาจต้องชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะได้ กับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยเป็นรายๆไป
ในปัจจุบันจะมีการผ่าตัดถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งฟื้นตัวเร็ว แต่การผ่าตัดก็มีความเสี่ยง มีโอกาสผิดพลาดไปโดนอวัยวะข้างเคียงได้ โดยเฉพาะท่อน้ำดีใหญ่ แม้โอกาสเกิดภาวะดังกล่าวจะไม่ถึง 1% หากไปโดนเข้าระหว่างผ่าตัด จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก
สุดท้ายนี้ขอสรุปแบบสั้นๆง่ายๆว่า ถ้าท่านเจอนิ่วในถุงน้ำดี แต่ไม่มีอาการ ไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดใดๆ ก็ทำใจให้สบายครับ นิ่วที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพียงแค่สังเกตอาการก็เพียงพอ อาจจะตรวจultrasoundซ้ำเป็นระยะ ตามคำแนะนำของแพทย์ครับ